Last updated: 19 ก.ค. 2564 | 902 จำนวนผู้เข้าชม |
ท้องอืด แน่นท้อง คลำพบก้อน สัญญาณเตือนโรคมะเร็งรังไข่!
อาการท้องอืดเรื้อรัง นอกจากจะรบกวนชีวิตประจำวันแล้ว ยังบ่งชี้ถึงอันตรายที่คาดไม่ถึง นั่นคือโรคมะเร็งรังไข่
รู้จักกับมะเร็งรังไข่
มะเร็งรังไข่เป็นมะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์ของผู้หญิงที่พบมากเป็นอันดับที่ 7 ของมะเร็งผู้หญิงทั่วโลกและพบเป็นอันดับที่ 6 ของมะเร็งผู้หญิงในประเทศไทย ซึ่งค่าเฉลี่ยในแต่ละวันพบผู้หญิงไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งรังไข่ประมาณ 4 ราย สามารถตรวจพบมะเร็งรังไข่ได้ทุกช่วงอายุ ตั้งแต่ 20 – 80 ปี โดยส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 50 – 60 ปี และมีโอกาสเสี่ยงสูงมากขึ้นเมื่อผู้หญิงมีอายุ 50 ปีขึ้นไป
มะเร็งรังไข่ เกิดจากการแบ่งตัวผิดปกติของเนื้อเยื่อบริเวณรังไข่ หรือท่อนําไข่ ทําให้รังไข่มีขนาดโตขึ้นจนในที่สุดมีการแพร่กระจาย ซึ่งมักกระจายไปตามเยื่อบุช่องท้องหรือเข้าสู่กระแสเลือดหรือทางเดินนํ้าเหลือง จนไปปรากฏยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น อุ้งเชิงกราน, ปอดหรือตับ
อาการที่อาจบ่งบอกว่าเป็นโรคมะเร็งรังไข่
• รู้สึกอึดอัดในช่องท้อง
• เบื่ออาหาร รู้สึกอิ่มจนอึดอัดถึงแม้รับประทานอาหารอ่อนๆ อาหารไม่ย่อย ท้องอืดท้องเฟ้อ หรือปวดท้องคลื่นไส้ ท้องเสีย ท้องผูก หรือปัสสาวะบ่อย
• น้ำหนักขึ้นหรือลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
• มีเลือดออกผิดปกติจากช่องคลอด
• คลำก้อนเนื้อได้ในท้องน้อย ปวดท้องน้อย
• ในระยะท้ายๆ อาจมีน้ำในช่องท้องทำให้ท้องโตขึ้นกว่าเดิม ผอมแห้ง น้ำหนักลด
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งรังไข่
โดยผู้หญิงที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดมะเร็งรังไข่ชนิดเยื่อบุผิว ได้แก่
• อายุมาก ไม่เคยตั้งครรภ์ ไม่มีบุตร หรือมีบุตรยาก
• มีประจำเดือนเร็วหรือหมดประจำเดือนช้ากว่าปกติ
• มีประวัติเป็นโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก ลำไส้ใหญ่ หรือเต้านม และมีประวัติครอบครัว โดยเฉพาะญาติใกล้ชิดเป็นมะเร็งรังไข่ มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งลำไส้ใหญ่
สำหรับผู้หญิงที่เป็นมะเร็งรังไข่ชนิดเยื่อบุผิวน้อยได้แก่
• มีบุตรมาก
• มีภาวะไม่ตกไข่
• มีการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด โดยการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดนาน 5 ปี
ระยะของมะเร็งรังไข่ มี 4 ระยะ ได้แก่
• ระยะที่ 1 มะเร็งอยู่เฉพาะที่รังไข่ยังไม่กระจายมาที่ช่องท้องน้อย
• ระยะที่ 2 มะเร็งกระจายมาที่ปีกมดลูกและอวัยวะในช่องท้องน้อย
• ระยะที่ 3 มะเร็งกระจายในท้อง ผิวช่องท้อง ไขมันในช่องท้อง ผิวลำไส้เล็ก ต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกราน และในต่อมน้ำเหลืองรอบเส้นเลือดใหญ่ในท้อง
• ระยะที่ 4 มะเร็งกระจายไปในอวัยวะไกล เช่น ปอด ช่องหัวใจ ต่อมน้ำเหลืองที่คอ เนื้อตับ และสมอง
การป้องกันโรคมะเร็งรังไข่
• ดูแลการรับประทานอาหารที่ปลอดสารก่อมะเร็งและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อรักษาภูมิต้านทานในร่างกายให้ดีอยู่เสมอ
• ควรตรวจภายในและพบสูตินรีแพทย์เป็นประจำทุกปี เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งรังไข่
• ควรลดการรับประทานไขมันจากสัตว์ เพราะหากทานปริมาณที่มากเกินไปก็อาจมีแนวโน้มความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งรังไข่ได้
ขอบคุณข้อมูลจาก: โรงพยาบาลเปาโล,โรงพยาบาลบำรุงราษฏร์,roche.co.th,Rama.mahidol.ac.th
10 ก.ย. 2567
15 ก.ย. 2567
15 ก.ย. 2567