มือเท้าชา อันตรายกว่าที่คิด... โรคปลายประสาทอักเสบ

Last updated: 24 มี.ค. 2567  |  1200 จำนวนผู้เข้าชม  | 

มือเท้าชา อันตรายกว่าที่คิด... โรคปลายประสาทอักเสบ

               ปลายประสาทอักเสบ เป็นภาวะหนึ่งของเส้นประสาทซึ่งทำหน้าที่รับส่งคำสั่งจากสมองและไขสันหลังไปยังอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายเกิดความเสียหายหรือเกิดโรคบางชนิด อาจทำให้เกิดอาการ เช่น อ่อนแรง ปวดและชาตามมือและเท้า หรืออวัยวะส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย

สาเหตุของปลายประสาทอักเสบ นั้นเกิดขึ้นได้จากโรคหรือภาวะหลายประการ ได้แก่

- โรคเบาหวาน ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของการเกิดปลายประสาทอักเสบ
- โรคทางภูมิคุ้มกัน เช่น โรคข้อรูมาตอยด์ โรค SLE โรคปลอกประสาทอักเสบเฉียบพลันหรือเรื้อรัง และโรคหลอดเลือดอักเสบ
- การได้รับสารพิษต่างๆ พิษจากตะกั่ว โลหะหนัก
- การขาดวิตามิน หรือสารบางชนิด เช่น วิตามินบี 1 บี 6 บี 12
- เนื้องอกและมะเร็ง เช่น โรคมะเร็งกระดูก มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
- โรคอื่นๆ เช่น โรคไต โรคตับ หรือภาวะต่อมไทรอยด์ผิดปกติ

ภาวะแทรกซ้อนของปลายประสาทอักเสบ ที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่

- เกิดบาดแผลที่ผิวหนังและแผลไหม้ โดยผู้ป่วยอาจไม่รู้สึกถึงอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงหรืออาการเจ็บบริเวณที่เกิดบาดแผลดังกล่าวเนื่องจากอาการชา
- เกิดการติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นเท้าหรือส่วนอื่น ๆ ของร่างกายที่ไร้ความรู้สึกจากปลายประสาทอักเสบอาจเกิดการบาดเจ็บโดยที่ผู้ป่วยไม่รู้ตัวได้ ดังนั้น ผู้ป่วยควรตรวจสอบบริเวณดังกล่าวอยู่เสมอและรักษาแผลหรือการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นก่อนจะนำไปสู่การติดเชื้อ โดยเฉพาะในผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน
- หกล้ม เพราะเมื่อร่างกายอ่อนแอและไร้ความรู้สึกของอาจทำให้ร่างกายเสียสมดุลและทำให้ผู้ป่วยหกล้มได้ง่าย

 แนวทางการดูแล เพื่อป้องกันการเกิดโรคได้เบื้องต้น คือ

- พักผ่อนให้เพียงพอ
- รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
- ออกกำลังกายเป็นประจำ
- งดดื่มแอลกอฮอล์
- งดสูบบุหรี่
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารพิษและสารเคมี
- ปรับรูปแบบในการดำเนินชีวิตประจำวัน ไม่ให้เคร่งเครียดมากเกินไป
- รักษาและควบคุมโรคที่สาเหตุ วิธีป้องกันปลายประสาทอักเสบที่มีประสิทธิภาพ เป็นการรักษาและควบคุมโรคที่ทำให้เกิดความเสี่ยงเป็นปลายประสาทอักเสบ

               ดังนั้น หากพบว่ามีอาการชา อ่อนแรงหรือเจ็บผิดปกติที่มือหรือเท้า ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที ซึ่งจะช่วยลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับเส้นประสาทส่วนปลาย ทําให้มีโอกาสหายเป็นปกติได้มากขึ้น แต่หากนิ่งนอนใจจนไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี อาจทำให้มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง กล้ามเนื้อลีบ และความรู้สึกรับรู้ลดลงจนหมดความรู้สึกที่อวัยวะส่วนนั้นได้

อ้างอิงข้อมูลจาก: ศูนย์สมอง โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา, ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้